พระปรางค์
คลิ๊กเพื่อเที่ยวชมความสวยงามของวัดอรุณราชวรารามแบบเสมือนจริงทั้งพระอาราม
พระปรางค์ ตั้งอยู่หน้าวัดทางทิศใต้ หลังโบสถ์น้อยและวิหารน้อย เดิมสูง ๘ วา (๑๖ เมตร) เป็นปูชนียสถานที่สร้างขึ้นพร้อมกับโบสถ์และวิหารน้อย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงมีพระราชศรัทธาจะเสริมสร้างให้สูงใหญ่เป็นพระมหาธาตุสำหรับพระนคร แต่ทรงกระทำได้เพียงโปรดให้กะที่ขุดรากเตรียมไว้เท่านั้น การยังค้างอยู่เพราะสวรรคตเสียก่อน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดเป็นการใหญ่อีกครั้ง เริ่มแต่ทรงปฏิสังขรณ์และสร้างกุฏิสงฆ์เป็นตึกใหม่ทั้งหมด เป็นต้น และทรงมีพระราชดำริเพื่อสนองพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมชนกนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปก่อพระฤกษ์พระปรางค์ เมื่อวันแรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๙ ตรงกับวันศุกร์ที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๓๘๕ งานเสริมสร้างพระปรางค์ได้ดำเนินจนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๔ รวมเวลาทั้งสิ้น ๙ ปี พระปรางค์มีความสูง ๑ เส้น ๑๓ วา ๑ ศอก ๑ คืบ ๑ นิ้ว (๑) (๖๖ เมตร ๗๗.๐๘๓ เมตร) หนังสือบางเล่มกล่าวว่า “เฉพาะองค์ปรางค์สูง ๘๑ เมตร” ฐานกลมวัดโดยรอบได้ ๕ เส้น ๑๗ วา (๒๓๔ เมตร)
(๑) เมื่อปฏิสังขรณ์ใหญ่สมัยรัชกาลที่ ๕ พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) แม่กองปฏิสังขรณ์ ได้ทิ้งดิ่งวัดความสูงของพระปรางค์ได้ดังนี้:-
ดู – เอกสารวัดอรุณฯ ๑๘ แผนกเอกสารสำคัญ กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร
ลักษณะของพระปรางค์ที่ปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่ ๕ หรือตามที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นดังนี้คือ:-
พระปรางค์ใหญ่ อยู่ภายในรั้วล้อมทั้ง ๔ ด้าน ด้านตะวันออก เหนือและตะวันตก ตอนล่างเป็นกำแพงก่ออิฐถือปูนเตี้ย ๆ ทาด้วยน้ำปูนสีขาว ตอนบนเป็นรั้วลูกกรงเหล็กทาสีแดง มีรูปครุฑจับนาคติดอยู่ตอนบนทุกช่อง แต่ละช่องกั้นด้วยเสาก่ออิฐถือปูนเหมือนกำแพงตอนล่าง ด้านตะวันตกหลังพระปรางค์นั้น มีเก๋งจีนแบบของเก่าเหลืออยู่อีก ๑ เก๋ง หน้าบันและใต้เชิงชายประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีและภาพสีทาและเขียนเป็นรูปดอกไม้ ต้นไม้ และรูปสัตว์ต่าง ๆ แบบจีน ผนังของเก๋งด้านใน ทาด้วยน้ำปูนสีขาว แต่เดิมนั้นเป็นภาพสีเกี่ยวกับนรก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดให้ลบออกเสีย เพราะทรงพิจารณาเห็นว่าไม่งาม ส่วนรั้วด้านใต้ที่ติดกับกำแพงพระราชวังเดิมนั้น เป็นรั้วก่อด้วยอิฐถือปูนทึบตลอดทั้งด้าน
ลานพระปรางค์ตั้งแต่รั้วถึงฐาน ปูด้วยกระเบื้องหิน มีท่อระบายน้ำจากพื้นลานลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แต่ละมุมด้านในของรั้วมีแท่นก่อไว้มีลายเป็นขาโต๊ะตั้งติดกัน เข้าใจว่าจะเป็นที่สำหรับตั้งเครื่องบูชา หรือวางของ รอบ ๆ ฐานพระปรางค์ มีตุ๊กตาหินแบบจีนเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น วัว ควาย เป็นต้น กับรูปทหารจีน ตั้งไว้เป็นระยะ ๆ บริเวณลานที่ตรงกับมณฑปมีราวเทียน และที่สำหรับปักธูปบูชาทั้ง ๔ มณฑป
องค์พระปรางค์ใหญ่ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมาก โปรดให้เปลี่ยนเพียงรูปกินนรกินรี และแจกันปักดอกไม้ตามช่องต่าง ๆ เป็นซีเมนต์ครึ่งซีกติดกับผนังคูหาด้านใน แทนของเก่าซึ่งสลักด้วยหินเป็นตัว ๆ ตั้งไว้ เพราะถ้าจะทำใหม่ให้เหมือนของเก่าจะต้องใช้เงินมาก ด้วยของเก่าเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ได้โปรดให้รื้อประตูเข้าพระปรางค์ออกหมดทั้ง ๙ ประตู แล้วสร้างขึ้นใหม่เพียง ๕ ประตู เป็นประตูซุ้มแบบวัดราชประดิษฐ์ ในซุ้มเหนือบานประตูทำเป็นรูปพระราชลัญจกรประจำพระองค์ทั้ง ๕ รัชกาล ติดอยู่ตรงด้านนอกด้านใน คือที่รั้วด้านตะวันออกหน้าพระปรางค์มี ๓ ประตู ประตูที่อยู่เหนือโบสถ์น้อยเป็นรูปครุฑจับนาค ประจำรัชกาลที่ ๒ ประตูกลางระหว่างโบสถ์และวิหารน้อยเป็นรูปพระเกี้ยว ประจำรัชกาลที่ ๕ และประตูข้างใต้วิหารเป็นรูปพระมงกุฎ ประจำรัชกาลที่ ๔ ส่วนทางด้านตะวันตกหลังพระปรางค์มี ๒ ประตู ประตูเหนือเก๋งจีนเป็นรูปอุณาโลมอยู่ในกลีบบัว ประจำรัชกาลที่ ๑ ประตูใต้เก๋งจีนเป็นรูปอุณาโลมอยู่ในปราสาท ประจำรัชกาลที่ ๓
ปรางค์ทิศ ไม่ได้เปลี่ยนแปลง
มณฑปทิศ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน เป็นแต่โปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ที่เหลืออยู่ในวิหารคดรอบพระปรางค์ ของเก่าที่รื้อไปนั้น นำขึ้นไปประดิษฐานไว้ในมณฑปทิศ คือ มณฑปทิศเหนือ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประสูติ ทำเป็นรูปพระนางสิริมหามายา พุทธมารดาประทับยืนเหนี่ยวกิ่งไม้รัง เบื้องพระพักตร์มีรูปพระมหาสัตว์หรือพระพุทธเจ้าแรกประสูติ ประทับยืนอยู่เหนือดอกบัวยกพระพาหาข้างขวาขึ้นเหนือพระเศียร ชูนิ้วพระหัตถ์ขึ้น ๑ นิ้ว ประกาศว่าจะทรงเป็นมหาบุรุษผู้เลิศในโลก มีรูปเทวดา ๒ องค์ ประคองพระแท่นที่ประทับยืน พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในมณฑปนี้ เป็นของทำขึ้นใหม่ทั้งหมด เพราะเดิมไม่มี ทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปปางตรัสรู้ มีพระพุทธรูปปางนาคปรกอยู่กลาง และพระพุทธรูปปางมารวิชัยอยู่สองข้างประทับอยู่ใต้ร่มโพธิ์และร่มไทร ทิศใต้ประดิษฐานพระพุทธรูปปางเทศนาพระธรรมจักร มีพระปัญจวัคคีย์ ๕ องค์นั่งพนมมือฟังอยู่เฉพาะพระพักตร์ สำหรับพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นี้ เป็นของทำขึ้นใหม่ เพราะของเก่าแตกทำลายหมด และทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์อยู่เหนือแท่นพระบรรทมใต้ต้นรังทั้งคู่ และมีพระภิกษุสงฆ์พุทธสาวกอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์
อนึ่ง ใน พ.ศ.๒๔๖๓ ประเทศไทยเริ่มใช้เวลาอัตราโดยถือเอาเวลาของเมริเดียน ๑๐๕0 ตะวันออกของกรีนนิช ซึ่งผ่านจังหวัดอุบลราชธานีเป็นมาตรฐานของเวลาอัตรา ฉะนั้น เวลาในประเทศไทยจึงเร็วกว่าเวลาสมมุติกรีนนิช ๗ ชั่วโมง แต่ถ้าถือเอาเมริเดียนที่ผ่านพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพฯ คือ เมริเดียน ๑๐๐0 ๒๙’ ๓๓” แล้ว จะเร็วกว่าเวลาสมมุติเพียง ๖ ชั่วโมง ๔๑ นาที ๕๘ วินาทีเท่านั้น(๑)